วิเคราะห์ และสรุป เศรษฐกิจประเทศอังกฤษ ในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

เศรษฐกิจ

หากไม่นับประเด็นร้อนของอเมริกากับอิหร่านที่ดูท่าจะไม่จบลงง่ายๆ(หรือเปล่า) อีกหนึ่งตัวละครที่สำคัญมากบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศจนถึงเวทีโลกเลยนั่นก็คือ ประเทศอังกฤษ เรื่องราวการแยกตัวจากสหภาพยุโรปหรือ brexit ทำให้เกิดไม่ได้ง่ายๆอย่างที่ใจคิด แม้ตอนนี้ยังไม่ได้ออกอย่างเป็นทางการแต่ก็มีผลกระทบทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นบ้างแล้ว เรามาลองวิเคราะห์ สรุป เศรษฐกิจประเทศอังกฤษปี 2019 กันบ้างว่าเป็นอย่างไร

ความขัดแย้ง ความวุ่นวาย

สองคำนี้น่าจะตีความของการดึงดันเรื่อง brexit ได้เป็นอย่างดี ความขัดแย้งที่ว่านี้ก็คือ ระดับการทำ brexit ของอังกฤษ ที่ฝ่ายหนึ่งต้องการทำ soft brexit หรือ การออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่เต็มตัว กล่าวคือจะออกจริงแต่คงสิทธิประโยชน์บางอย่างเอาไว้เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่อีกกลุ่มต้องการ hard brexit คือต้องการออกแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปเลย ซึ่งทั้งสองแบบมีผลทางเศรษฐกิจแตกต่างกันไปด้วย

จากความขัดแย้งทั้งสองแนวคิดนี้ ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางความคิดกันพอสมควร ทั้งในระดับการเมืองที่ยังไม่สะเด็ดน้ำว่าจะเอาอย่างไร จนถึงนอกสภาพที่ประชาชนมีความคิดแตกต่างกันในเรื่องนี้ทำให้มีการปะทะกันหลายครั้ง(แต่ไม่รุนแรง)

ความไม่แน่นอน

จากความไม่แน่นอนในเรื่องนี้ทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษมีความผันผวนตามไปด้วย กล่าวคือ นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างก็เฝ้ารอว่าสรุปแล้ว อังกฤษจะเดินหน้าเรื่อง brexit ต่อไปอย่างไร จะทำต่อ หรือ เลิก ทำต่อทำแบบไหน อย่างไร นักลงทุนเมื่อต้องการสงวนท่าทีดูก่อน ก็จะทำให้การลงทุนหยุดชะงักไป ตลาดหุ้น นักลงทุนอาจจะขนเงินไปพักที่อื่นเพื่อความปลอดภัยก่อน

แนวทางจับมือระหว่างประเทศ

แต่ทางการอังกฤษก็ทราบเองถึงความผันผวนเศรษฐกิจข้อนี้ ทำให้พวกเค้าเริ่มที่จะมองหาเครื่องมือทางเศรษฐกิจตัวใหม่มารองรับทุกกรณีแล้ว อย่างหนึ่งที่ทำออกมาแล้วก็คือ การจับมือกับประเทศคู่ค้าด้วยสนธิสัญญาฉบับใหม่ แม้ว่าพวกเค้าจะออกจากอียูแล้วก็ตาม ตัวอย่าง เกาหลีใต้ได้จับมือเซ็นสัญญาไปแล้ว จากนั้นก็จะมีตามมาอีกหลายประเทศ(แต่ยังไม่มีไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน) นั่นทำให้ภาพความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังคงไม่ลดลงไปมากนัก

อย่างไรก็ตามน่าสนใจเหมือนกันว่าเครื่องมือตัวนี้ ไทยเราหรือกลุ่มประเทศอาเซียน จะสามารถเข้าไปสอดแทรกจับมือเป็นคู่ค้าสำคัญภายในสถานการณ์นี้ได้หรือไม่ หากทำได้เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงค์อย่างเต็มที่ (นึกภาพว่าเราสามารถเป็นคู่ค้า ส่งสินค้าไปขายได้อย่างสะดวกด้วยสิทธิพิเศษ และกฎที่ยืดหยุ่นรองรับ) เม็ดเงินอันมหาศาลรออยู่เช่นกัน

ธุรกิจที่ยังเนื้อหอม

ท่ามกลางความผันผวนไม่แน่นอนของเศรษฐกิจอังกฤษ แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจอยู่สองตัวที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ หนึ่งเลยเป็นบริษัท tech startup ที่เติบโตได้ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ไม่เพียงแค่นั้นเหล่าบริษัทเหล่านี้ยังเนื้อหอมดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศจากฝั่งอเมริกา กับเอเชีย ตัวอย่างบริษัทที่เข้าขายนี้ก็คือ ovo energy บริษัททางด้านพลังงานหมุนเวียน Deliveroo บริษัทส่งอาหารถึงบ้าน คาดการณ์กันว่า tech startup เหล่านี้จะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอังกฤษในยุคนี้จนถึงยุคที่ Brexit สำเร็จในช่วงแรกอีกด้วย

อีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเนื้อหอมนั่นก็คือ ธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ บ้านในสหราชอาณาจักรแม้ว่าจะแพงมากในกลุ่มราคาสูงอย่าง ย่าน Belgravia ย่าน Mayfair และ ย่าน Knightbridge ยังเป็นกลุ่มที่แม้จะมีราคาแพงแบบไม่น่าเชื่อแต่ก็ยังได้รับแรงซื้อจากเศรษฐีอังกฤษ จนถึง เศรษฐีทั่วโลก ที่เข้ามาทำธุรกิจในอังกฤษ

ในปีนี้ ก็ต้องจับตาดูว่าเศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในสภาพขมุกขมัวแบบนี้น่าสนใจว่าทางการอังกฤษจะตัดสินใจอย่างไรในเรื่อง Brexit ซึ่งตัดสินใจอย่างไรก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอังกฤษด้วยกันทั้งนั้น